วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Creative Economy

Creative Economy



วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551
มมีความเชื่อว่า Creative Economy คือทางรอดของเศรษฐกิจไทย
ผมอยากแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยเลิกกินบุญเก่า และหาทางเดินเข้าไปในโลกใหม่ ซึ่งเป็นโลกของ Creative Economy เพื่อสร้างความมั่งคั่งใหม่ให้กับตนเอง และเศรษฐกิจของประเทศ

ก่อนอื่นมาดูกันที่ความหมายของคำว่า Creative Economy

Creative Economy เกิดขึ้นบนหลักสองประการคือ

1.Business Idea that Generates Better Outcomes.

2.It is a New Solution to Old Problem.

เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากไอเดียของธุรกิจที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

เป็นการสร้างคำตอบใหม่เพื่อแก้ปัญหาเก่า

เป็นการสร้าง New Value ให้กับผู้บริโภค ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้นกว่าเดิม

ไอเดียของธุรกิจดังกล่าวยังเปลี่ยน Competitive Landscape ในอุตสาหกรรมนั้นไปอย่างสิ้นเชิง พร้อมสร้างสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงให้กับผู้ประกอบการนั้นๆ อีกด้วย

การทำธุรกิจในความหมายของคำว่า Creative Economy มีด้วยกันสองวิธีคือ

1.Initiative นำความคิดริเริ่มเติมเข้าไปในองค์ความรู้เดิม แล้วทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของการทำธุรกิจ

2.Invention คิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ก่อให้เกิดกลุ่มธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในสาระบบของเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นเรื่อง E Commerce

สำหรับประเทศไทย แนวทางแรกเป็นแนวทางที่เหมาะกับสภาพของบ้านเรา เพราะประเทศเรายังไม่มีความพร้อมในแนวทางที่ 2 เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยเงินทุน และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ในการรองรับที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้

อะไรคือกระบวนการในการทำธุรกิจในบริบทของคำว่า “ความคิดริเริ่ม”

จากประสบการณ์ของผม มีอยู่ 4 ขั้นตอนครับ

1.เป็นการทำธุรกิจที่เอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกิจ หรือที่มีศัพท์เรียกเฉพาะว่าเป็น Consumer-Champion Operation

ท่านผู้อ่านคงบอกว่า ก็ไม่เห็นมีอะไรใหม่

ครับไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ผู้ประกอบการในบ้านเราชอบพูดคำคำนี้ แต่ไม่ค่อยจะทำ ดังนั้นคำว่า Consumer-Champion ยังเป็นคำที่ทรงพลังสำหรับคนที่พูดแล้วทำจริง

2 หาช่องว่างทางธุรกิจ

ในทุกวงการจะมีช่องว่าง หรือจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้เราใช้ความคิดริเริ่มสร้างข้อเสนอใหม่ทางธุรกิจที่ Sexy มากขึ้นกว่าเดิม

หัวใจสำคัญคือ เราต้องเป็นคนช่างสังเกตและเจ้าความคิด คิดที่จะหาไอเดียสดใหม่ที่จะสร้าง Product & Service Offering ที่น่าสนใจกว่าเดิม

3.คือการออกแบบพิมพ์เขียวทางธุรกิจ ที่เป็น White Space’s Business Model เพื่อให้ฟันเฟืองทุกตัวของ Business Process ขับเคลื่อนให้เกิดประสบการณ์ใหม่กับผู้บริโภค

ตัวอย่างเช่น นาฬิกา Swatch ที่นำเรื่อง Fashion มาบวกกับธุรกิจนาฬิกา หรือ Platinum Fashion Mall ในบ้านเราที่สร้างข้อเสนอใหม่ของธุรกิจค้าส่งเสื้อผ้า ในรูปแบบของการตบแต่งหน้าร้านแบบธุรกิจค้าปลีก

4.คือมีความเป็นเลิศในการส่งมอบ

นี่เป็นขั้นตอนง่ายๆ ในการทำธุรกิจในความหมายของคำว่า Creative Economy


ที่มา http://www.posttoday.com/business.php?id=12727


ใน ปัจจุบันคำที่ใช้กันมากและอาจสร้างความสงสัยให้ผู้คนได้ไม่น้อยก็คือคำว่า Creative Economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญขึ้นในเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้ เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่รู้จักใช้คอนเซ็ปท์ Creative Economy (CE)
ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง การส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลกในรูปของภาพยนตร์
รายการโทรทัศน์ เพลง นักร้อง แฟชั่น การท่องเที่ยว ศิลปะการแสดง อาหาร ฯลฯ
ซึ่งสร้างการจ้างงานและรายได้อย่างมหาศาลเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม

ความหมายอย่างง่ายของ CE ซึ่งให้โดย John Hawkins
(ในหนังสือชื่อ The Creative Economy :
How People Make Money From Ideas
ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC)
ก็คือ "การสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของมนุษย์"
สาขาการผลิตที่พัฒนาไปสู่ CE จะเรียกว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
(Creative Industries หรือ CI) ซึ่ง
หมายถึงกลุ่มกิจกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาความคิดสร้างสรรค์เป็นวัตถุดิบสำคัญ

UNCTADแบ่งประเภทอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ "......
1) ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม (Heritage or Cultural Heritage)
เป็น กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคม เป็นต้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มการแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม (Traditional Cultural Expression) เช่น ศิลปะและงานฝีมือ
เทศกาลงานและงานฉลอง เป็นต้น และกลุ่มที่ตั้งทางวัฒนธรรม (Cultural Sites)
เช่น โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และการแสดงนิทรรศการ เป็นต้น

2) ประเภทศิลปะ (Arts) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บนพื้นฐานของศิลปะ
และวัฒนธรรม แบ่งออกเป็น 2 กุล่ม คือ งานศิลปะ (Visual Arts)
เช่น ภาพวาด รูปปั้น ภาพถ่าย และวัตถุโบราณ เป็นต้น รวมทั้งศิลปะการแสดง
(Performing Arts) เช่น การแสดงดนตรี การแสดงละคร การเต้นรำ โอเปร่า
ละครสัตว์ และการเชิดหุ่นกระบอก เป็นต้น
3) ประเภทสื่อ (Media) เป็นกลุ่มสื่อผลิตงานสร้างสรรค์ที่สื่อสารกับคนกลุ่มใหญ่
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ งานสื่อสิ่งพิมพ์ (Publishing and Printed Media)
เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ และสิ่งตีพิมพ์อื่นๆ เป็นต้น และงานโสตทัศน์ (Audiovisual)
เช่น ภาพยนตร์โทรทัศน์ วิทยุ และการออกอากาศอื่นๆ เป็นต้น

4) ประเภท (Functional Creation) เป็นกลุ่มของสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการออกแบบ (Design)
เช่น การออกแบบภายใน กราฟิค แฟชั่น อัญมณี และของเด็กเล่น เป็นต้น
ส่วนกลุ่ม New Media ได้แก่ ซอฟต์แวร์ วิดีโอเกม และเนื้อหาดิจิตอล เป็นต้น
และกลุ่มบริการทางความคิดสร้างสรรค์ (Creative Services)
ได้แก่ บริการทางสถาปัตยกรรม โฆษณา วัฒนธรรมและนันทนาการ งานวิจัยและพัฒนา
และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอล และความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น......."

ประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดขอบเขตของ CE หรือ CI อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้พยายามจัดกลุ่มของ CI
ตามลักษณะของบัญชีรายได้ประชาชาติ โดยแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่
1) งานฝีมือและหัตถกรรม (Crafts)
2) งานออกแบบ (Design)
3) แฟชั่น (Fashion)
4) ภาพยนตร์และวิดีโอ (Film & Video)
5) การกระจายเสียง (Broadcasting)
6) ศิลปะการแสดง (Performing Arts)
7) ธุรกิจโฆษณา (Advertising)
8) ธุรกิจการพิมพ์ (Publishing)
9) สถาปัตยกรรม (Architecture)

ข้อมูลของสำนักบัญชีประชาชาติปี 2549 ระบุว่ามูลค่าของ
CI ของทั้ง 9 กลุ่มข้างต้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.4 ของ GDP
โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 848,000 ล้านบาท
และมีมูลค่าการส่งออกในปี 2549 ประมาณ 289,000 ล้านบาท

ประเทศไทยมีวัตถุดิบที่สามารถพัฒนาขึ้นเป็นสินทรัพย์สร้างสรรค์
(Creative Assets) อยู่มหาศาล
ไม่ว่าจะเป็นในด้านรูปธรรมหรือนามธรรม ซึ่งสามารถนำไปสร้างเสริม CE ได้เป็นอย่างดี

ในด้านรูปธรรม เรามีพระบรมมหาราชวัง พระแก้วมรกต พระพุทธรูปงดงามพระราชวัง
วัดวาอาราม เรือสุพรรณหงส์ อาหารไทย รำไทย นวดไทย ข้าวไทย ผลไม้ไทย
ผ้าไหมไทย สุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ฯลฯ แหล่งท่องเที่ยว เช่น
อยุธยา สุโขทัย เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา เยาวราช สำเพ็ง เขาพระวิหาร
เมืองโบราณ ฟาร์มจระเข้ ฯลฯ
ในด้านนามธรรม
เรามีเรื่องราวของ Siamese Twins อิน-จัน
(คำว่า Siamese สามารถช่วยสร้าง CE ได้เป็นอย่างดี
เพราะฝรั่งรู้จัก Siamese Twins/ Siamese Cats
แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าประเทศไทยกับสยามคือประเทศเดียวกัน
บ้างก็นึกว่า Thailand คือ Taiwan)
สะพานข้ามแม่น้ำแคว เขาตะปู
(ในตอนหนึ่งของภาพยนตร์ 007 James Bond) ฯลฯ

วัตถุดิบเหล่านี้กำลังรอคอยการพัฒนาขึ้นเป็น Creative Assets
เพื่อเป็นปัจจัยในการสร้าง Creative Industries
หัวใจสำคัญของการพัฒนาก็คือความคิดสร้างสรรค์ (Creative Ideas)
ซึ่งมิได้ติดตัวทุกคนมาแต่กำเนิด หากเกิดขึ้นจากการมีทักษะในการคิด
(Thinking Skills) และการมีความคิดริเริ่ม (Originality)
ซึ่งต้องมีการเรียนการสอน ฝึกฝนกันในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง

ในแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (2553-2555)
ของรัฐบาลชุดนายกฯ อภิสิทธิ์นี้ งานสร้าง CE ได้รับเงินจัดสรรรวม 17,585 ล้านบาท
โดยจัดสรรให้แก่การส่งเสริมและพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา
การส่งเสริมเอกลักษณ์ด้านศิลปะและวัฒนธรรม
การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมช่างฝีมือไทย
การส่งเสริมอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงและซอฟต์แวร์
การส่งเสริมอุตสาหกรรมรวมออกแบบและสินค้าเชิงสร้างสรรค์
และการขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

หากประเทศของเราจะอยู่ได้ดีในหลายทศวรรษหน้า
ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ
เราจำเป็นต้องพัฒนาจากระดับต่ำสุด คือ เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิต
(Factor-driven Economy คือ การใช้การผลิตด้วยต้นทุนต่ำเป็นปัจจัยสำคัญ)
เพื่อเข้าสู่ระดับความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นเป็นลำดับคือ
เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven Economy)
และเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
(Innovation-driven Economy) ในที่สุด


ที่มา http://teetwo.blogspot.com/2009/06/creative-economy.html


• เมื่อปัจจัยแห่งความสำเร็จวันนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงิน-เครื่องจักรอีกต่อไป

• ..ความคิดใหม่ๆแบบสร้างสรรค์.. ต่างหากที่กลายเป็นพลังสำคัญ !!!

• ร่วมค้นหาคำตอบแนวคิดใหม่ “ Creative Economy”

• เผย 13 กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์


ในแวดวงบริหารจัดการ หลายคนคงคุ้นเคยกันดีกับคอนเซ็ปต์ Creative Organization หรือองค์กรช่างคิดกันไปแล้ว แต่วันนี้พลังความคิดใหม่ๆดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่ในธุรกิจเท่านั้น แต่ยังได้ขยายบทบาทไปยังระดับมหภาคของประเทศ โดยมีการนำเอา ความคิดสร้างสรรค์ไปผนวกกับแนวคิดทางเศรษฐกิจจนกลายเป็น "Creative Economy " หรือ "เศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์" หรือรูปแบบบริหารจัดการเศรษฐกิจแนวใหม่ ท่ามกลางกระแสโลกที่ขับเคลื่อนบริหารเศรษฐกิจด้วยทุนนิยมอย่างแพร่หลาย

เมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ( TCDC ) ได้มีการจัดงานสัมมนา Creative Thailand สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเชิญบุคคลสำคัญเกี่ยวข้องกับแนวคิดเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ ทั้งใน และต่างประเทศมาร่วมบรรยาย ขยายภาพความคิด ถึงที่มา ความหมาย บทบาทความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง พร้อมกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ อาทิ อังกฤษ จีน รวมถึง การตอบรับกระแสดังกล่าวในเมืองไทยอย่างน่าสนใจ มีใจความสรุปหลักดังนี้

เปิดโมเดล Creative Economy

จอห์น ฮอกิ้น กูรูด้านเศรษฐกิจ และเจ้าของผลงานหนังสือ Creative Economy ชาวอังกฤษ
ได้อธิบาย เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หมายถึง แนวคิดที่จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อภาคการผลิต บริการ ภาคการขาย หรือแม้แต่อุตสาหกรรมบันเทิง เป็นแนวคิดที่อยู่บนการทำงานแบบใหม่ ที่มีปัจจัยหลักมาจากความสามารถ และทักษะพิเศษของบุคคล "มันเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีกระบวนการนำเอาวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี่มารวมเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ ( Creative Industry ) หรือ อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม ( Culture Industry )"

ปัจจุบันธุรกิจที่จัดอยู่ในข่าย อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ งานโฆษณา, สถาปัตยกรรม งานฝีมือ และการออกแบบ, แฟชั่น และเครื่องนุ่งห่ม, ภาพยนตร์ และวิดีโอ, การออกแบบกราฟิก, ซอฟท์แวร์ เพื่อการศึกษา และการพักผ่อนหย่อนใจ, ดนตรี และผลงานเพลง, ศิลปะการแสดง และบันเทิง, การเผยแพร่โทรทัศน์ วิทยุ และอินเทอร์เน็ต, ผลงานทัศนศิลป์ และของเก่า งานเขียน และงานพิมพ์ต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม บางครั้ง Creative Economy :CE ก็ถูกเรียกกันว่า Creative Industry :CI โดยแนวคิดนี้มีการนำไปใช้อย่างจริงจังในหลายประเทศของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาทิ อังกฤษ จีน สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น สำหรับอังกฤษ ถือว่าเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์นี้ โดยขนาดของอุตสาหกรรมดังกล่าวของอังกฤษ คิดเป็น 7.3% ของจีดีพีทั้งประเทศ เป็นรองก็เพียงแต่ภาคการเงิน

ขณะที่อัตราการเติบโตคิดเป็น 5% ต่อปี คิดเป็นสองเท่าของอุตสาหกรรมอื่นๆ และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวถึง 1.8 ล้านคน เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ รัฐบาลอังกฤษได้จัดให้มีโปรแกรมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (The Creative Economy Program) ขึ้นตั้งแต่ปี 2005

ในรายงานของ UNCTAD ระบุว่า อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ จัดเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับ โกบอลมากขึ้น มีอัตราเฉลี่ยเติบโตประมาณ 8.7 เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี 2000-2005 ในกลุ่มประเทศยุโรป มูลค่า สินค้า บริการได้ถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกคิดเป็นมูลค่า 424.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็นสัดส่วน 3.4 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการค้าโลก ส่วนกลุ่มประเทศ เอเชีย คาดการณ์ว่าในอนาคตจะกลายเป็นอันดับสองของโลกในการส่งออกสินค้าประเภทความ คิดสร้างสรรค์ โดยมีจีนเป็นประเทศที่ถูกจับตามากที่สุดแห่งหนึ่ง

"ปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลของประเทศต่างๆทั่วโลก ในฐานะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต อีกทั้งยังเป็นรูปแบบเศรษฐกิจระบบใหม่ที่เปิดให้บุคคลที่มีความคิดสร้าง สรรค์เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนบริหารเศรษฐกิจ" ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการสำนักงานบริหาร และพัฒนาองค์ความรู้ หรือ สบร. OKMD บอกถึงบทบาทสำคัญของ CE

คน... ขุมพลังความคิดสร้างสรรค์

เขาย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุด สำหรับการส่งเสริมเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นี้ คือ การสร้างบรรยากาศ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้บุคคลมีความคิดสร้างสรรค์ ได้ใช้เป็นพื้นที่หรือแรงบันดาลใจผลงานต่างๆขึ้นมา ขณะเดียวกัน คนอีกกลุ่มที่ยังไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ก็อาจเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา ได้ หากพวกเขาได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้

ทางด้าน จอห์น ยังให้ข้อคิดอีกด้วย การสร้างเศรษฐกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้ประสบความสำเร็จ ดังเช่นกรณีประเทศอังกฤษนั้น จำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ อาทิ เสถียรภาพการเมืองมั่นคง มีความเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งการศึกษา และความเข้าใจของคนอย่างทั่วถึง และ ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือ ความเป็นอิสระทางความคิด และการแสดงออก

" เพราะถ้าคนเรามีอิสระที่จะตัดสินใจว่าจะทำอะไรได้ รวมถึงการทำกิจกรรมที่สามารถฝึกสมองความคิดอย่างต่อเนื่อง มันก็จะส่งเสริมให้คนมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด และกล้าแสดงออกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องฝึกขจัดความคิดไม่ดีออกไป คิดแต่เรื่องดีให้จนเป็นนิสัย ความคิดนั้นต้องมาจากที่ตนเองคิดไม่ได้ไปลอกเลียนใคร มีความหมาย และนำไปใช้ประโยชน์ได้ "

ทั้งนี้โมเดลพื้นฐานสำคัญ ที่ทำให้ก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์มาจากหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ทุกคน สามารถมีความคิดสร้างสรรค์ (Everyone needs Creativity or Everyone can be Creativity ) เพราะเชื่อว่า คนเราทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัวตั้งแต่เด็กๆแล้ว 2. ความคิดสร้างสรรค์ต้องการอิสรภาพ ( Creativity needs Freedom ) ทั้งนี้ในสังคมที่สนับสนุนให้คนแสดงความคิด และสามารถแสดงออกได้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการศึกษา ฝึกฝน และเรียนรู้ 3. อิสรภาพความคิดสร้างสรรค์ต้องการตลาด ( Freedom needs markets ) ทั้งอิสระของความคิดสร้างสรรค์ก่อให้เกิดตลาด อันเนื่องมาจากความคิดสร้างสรรค์ได้มีการค้นคว้า ทำเป็นข้อมูลที่มูลค่าราคา และสามารถแลกเปลี่ยนนำไปใช้ประโยชน์ได้

สำหรับประเทศไทย จอห์น บอกว่า ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และโรงแรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก จัดว่าทำได้ดีก็ให้มุ่งเน้นสร้างจุดแข็งอย่างจริงจัง

สำหรับภาคธุรกิจ กับการนำ Creative Economy มาประยุกต์ใช้ให้ได้ผล สำหรับบุคคล จะต้องสร้างให้ตนเองมีความคิดสร้างสรรค์ก่อน ไม่ว่าในภาคอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ อาทิ นักโฆษณา นักสื่อสารมวลชน หรือนักสถาปนิก สำหรับธุรกิจ นั้นก็ต้องรู้จัก และเข้าใจในสิ่งที่ตนจะทำธุรกิจ อย่างรอบด้าน

มุ่งสู่ Creative Thailand ?

ทางด้าน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า มีการนำแนวคิด Creative Economy ไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจ และปรับปรุงกระบวนการผลิตภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต และแข่งขันได้ โดยกำหนดไว้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ในส่วนของยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สมดุล และยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในภาคปฎิบัติยังไม่ได้การสนับสนุน และส่งเสริมอย่างจริงจัง

"เนื่องจากเศรษฐกิจปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น การสร้างรายได้จากตราสารการเงินไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับไปสู่พื้นฐาน คือ การผลิต และบริการที่มีคุณภาพ โดยอาศัยพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ และทำให้สังคมไทยเป็น Creative Economy และการจ้างงานจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่เป็นการจ้างงาน เพื่อผลิตแบบจำนวนมาก Mass Production ที่กินส่วนต่างค่าแรง แต่จ้างงานแล้วเกิดมูลค่าเชิงความคิดสร้างสรรค์เฉพาะส่วนมากกว่า"

ดังนั้น การที่จะทำให้เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นอย่างได้ผล รัฐบาลต้องคิดให้ครบตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มจากภาคเอกชนก่อนเน้นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะซื้อสินค้า และบริการที่มีคุณภาพที่ดีขึ้น (ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ) อีกทั้งจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

พร้อมกันนี้ ต้องช่วยกันสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีมากพอที่จะสามารถตอบสนองความต้อง การของธุรกิจ และความต้องการตลาด และใช้ประโยชน์จากมาตรการของรัฐ สำหรับภาครัฐ จะต้องสร้างโครงการพื้นฐานทางปัญญาที่มาสนับสนุนความเป็นเศรษฐกิจด้วยพื้น ฐานความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ ในรูปแบบหน่วยงาน OKMD, TCDC ซึ่งเปรียบเสมือนแหล่งทุนทางปัญญา สำหรับผู้ที่ต้องการหาความรู้ และทักษะเสริม เพื่อนไปใช้ผลิตสินค้าหรือบริการ ที่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่า ( Skill Value Creators )

ทั้งนี้ ล่าสุดรัฐบาลได้มีแนวคิด "โครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ถนนราชดำเนิน" เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานความคิดสร้าง สรรค์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษารายละเอียดอยู่

****************************

ยุทธศาสตร์ CE
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอังกฤษ -จีน


ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ จัดเป็นประเทศแรกที่ครองส่วนแบ่งตลาดโลกมากที่สุดในอุตสาหกรรมบนพื้นฐานความ คิดสร้างสรรค์ คือ 18% และตั้งเป้าในอีก 13ปี ข้างหน้าจะกลายเป็นภาคที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศขึ้นมาแทนภาคการเงินที่ ยังเป็นอันดับหนึ่งอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ สหรัฐ มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 17% และจีน13% ขณะที่อัตราการเติบโตที่รวดเร็วสูงสุดกลับเป็นประเทศอินเดีย ที่เติบโตสูงกว่า 40%ต่อปี เช่นเดียวกับเกาหลี และสิงคโปร์ ฯลฯ

ในอังกฤษ มีการจัดตั้งหน่วยงาน Department of Culture, Media and Sport (DCMS) เป็นหน่วยงานยุทธศาสตร์ กำกับดูแลอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ โดยมีการขับเคลื่อนธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายที่ได้จำแนกออกเป็น 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ทีวี-วิทยุ 2. โฆษณา3. สถาปนิก4. แฟชั่นดีไซเนอร์ 5.คอมพิวเตอร์ และวิดีโอเกมส์6.ภาพยนตร์ และวิดีโอ7. ออกแบบสร้างสรรค์ 8.ศิลปะ-งานฝีมือ 9.ดนตรี 10.ช่างศิลป์ 11.ซอฟแวร์12.สิ่งพิมพ์ 13.ศิลปะร่วมสมัย โดยมุ่งให้ความสำคัญกับทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งจากภาคศิลปะพื้นบ้าน และวัฒนธรรม รวมทั้งซอฟแวร์ และคอมพิวเตอร์ วิดีโอเกมส์

ประธานองค์กร เพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์ของชาติ และภูมิคภาค หรือ National Endowment for Science , Technology and the Arts ( NESTA)อังกฤษ คริส พาวเวล กล่าวถึง ความสำเร็จของอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ว่า เกิดขึ้นจากการเอาจริงเอาจังของระดับภาครัฐบาลได้มีการกำหนดนโยบายสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรมความคิดสร้างสรรค์อย่างจริงจัง โดยอุตสาหกรรมขนาดเอสเอ็มอี NESTA ได้มีการพัฒนาโปรแกรมบริหารจัดการโดยเฉพาะ โดยเริ่มจาก 6 อุตสาหกรรมแรก อาทิ ทีวี-วิทยุ โฆษณา สถาปนิก แฟชั่นดีไซเนอร์ คอมพิวเตอร์ และวิดีโอเกมส์ และ ภาพยนตร์ และวิดีโอ

โดยโครงการนำร่อง ได้แก่ การจัดตั้งสภาภาพยนตร์อังกฤษ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนอุตสหกรรมภาพยนตร์ภาพยนตร์อังกฤษ ทั้งยังมีการจัดเสริมทักษะ ฝึกอบรมสร้างสรรค์ และพัฒนาช่องทางใหม่แบบดิจิตอล ให้กับผู้ประกอบการบริษัทที่ทำธุรกิจภาพยนตร์ที่มีศักยภาพเติบโตดี

อีกทั้งยังมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับ Communications Act (2003) เพื่อสนับสนุนใช้สื่อรัฐสนับสนุนกิจกรรม อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอิสระอื่นเข้าร่วมสร้างสรรค์ได้อย่างกว้าง ขวาง ด้านการพัฒนา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี่ เพื่อการค้นคว้าวิจัยได้มีการจัดทำเป็นแผนอย่างเป็นระบบ มีงบประมาณ แผนงานดำเนินงานชัดเจน มีระบบภาษี ช่วยดูแลสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ ทำรายได้จากการส่งออกกว่า 14 พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ของ การส่งออกสินค้าบริการรวมในปี 2549 โดยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของการเติบโตผลผลิตมาจากธุรกิจใหม่ และในแรงงานกว่า 1 ล้านคน มีการทำงานในกลุ่มงานความคิดสร้างสรรค์กว่า 8 แสนคน ในอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์

ทางด้าน ด็อกเตอร์ เดสมอนด์ ฮุย ศาสตราจารย์ ประจำ Department of Cultural& Regilious Studies ของมหาวิทยาลัยไชนีส ในฮ่องกง ให้ทัศนะด้วยว่า ในอุตสาหกรรมบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ จีน จัดเป็นประเทศหนึ่งที่มีบทบาทมากเป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย แต่ Creative Economyของจีน ถูกนิยามให้เป็นอุตสาหกรรมบนพื้นฐานวัฒนธรรม Cultural Industry ซึ่งปัจจุบันยังมีจุดอ่อนในเรื่องความเป็นอิสระของสื่อสารมวลชน อันแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มักเติบโต เพราะมีอิสระในด้านความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ตามสำหรับจีน ได้มีการกำหนดให้ความสำคัญในการพัฒนา อุตสาหกรรมบนพื้นฐานวัฒนธรรม มาตั้งแต่ ในปี 2000

โดยพรรคคอมมิวนิสต์ ประกาศย้ำว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมทางสังคมนิยมที่ ช่วยสร้างความเจริญรุ่งเรือง ในตลาดทางเศรษฐกิจ อีกทั้งจะส่งเสริมในการตอบสนองให้วัฒนธรรม และจิตใจ ดังนั้น วัฒนธรรมทางสังคมนิยม จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีการปรับปรุงนโยบายต่างๆเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน

ในฮ่องกง ได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ มาตั้งแต่ปี 1990 ได้รับแรงจูงใจจากอังกฤษ เนื่องจากในช่วงเวลาฮ่องกงเผชิญภาวะวิกฤติการเงิน อสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ รัฐบาลจึงมีการผลักดันแนวคิดระบบเศรษฐกิจแนวใหม่ โดยมีการนำเอาประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทผลักดันเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ที่มา http://www.boybdream.com/manager-news-content.php?newid=61769

ไม่มีความคิดเห็น: